วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2550

ศิลปะภาพเปลือยในแบบเรอนัวร์,Renoir's Nudes(1)



ปิแอร์ โอกุสต์ เรอนัวร์(Pierre-Auguste Renoir)ชาวฝรั่งเศส เกิดที่เมืองลีมอช(Limoges) เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ คศ.1841 เป็นบุตรคนที่ 6 ในบรรดาลูกทั้ง 7 คนของ เลโอนาร์ด เรอนัวร์(1799-1874)กับ มาร์เกอริต แมร์เล(1807-1896) บิดาของเขาเป็นช่างตัดเสื้อ มีรายได้แบบคนหาเช้ากินค่ำทั่วไป พอเขาอายุ 4 ขวบ ครอบครัวก็อพยพมาอยู่ที่ปารีสและเข้าฝึกงานในโรงงานผลิตเครื่องลายครามเมื่ออายุ 13 ปี ก่อนจะมาเป็นช่างเขียนภาพถ้วยชาม โดยได้เงินค่าจ้างเล็กๆน้อยๆ เพราะมีใจรักการเขียนภาพมาตั้งแต่เด็กๆ จากความฝังใจในวัยเยาว์จึงดลบันดาลให้ภาพเขียนมีลักษณะสว่างสดใส ประกอบด้วยเงามืดบางๆ เกลี้ยงเกลา และเรียบง่ายแบบกระเบื้อง อันมีอิทธิพลต่องานจิตรกรรมของเขาในเวลาต่อมา


ในบรรดากลุ่มเพื่อนศิลปิน(โคล้ด โมเน่ต์,อัลเฟรด ซิสลี่ย์,เฟรเดริค บาซี่ย์..)เขียนภาพแนวประทับใจ,อิมเพรสชั่นนิสม์(impressionism) นอกจากเรอนัวร์แล้วแทบจะไม่มีใครวาดภาพนู้ดเลย จึงควรที่จะนำผลงานศิลปะภาพเปลือยหญิงสาวในแบบฉบับของเรอนัวร์มาพินิจพิจารณาอย่างลึกซึ้งช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ภายหลังจากยุคเสื่อม,ตกต่ำของศิลปะโรแมนติค ซึ่งนิยมวาดภาพเหมือนจริง ได้เกิดลัทธิการสร้างงานศิลปะแบบใหม่ขึ้น โดยได้รับความนิยมชื่นชมอย่างเงียบๆทีละเล็กละน้อย ศิลปินผู้ริเริ่มศิลปะแบบนี้ค่อนข้างคุ้นหน้าค่าตากันในปัจจุบัน คือพวกที่แต่งตัวเรียบง่าย,ออกจะดูโทรมมากกว่าเป็นผู้ดี มีจานสีกับพู่กันในมือ ตั้งผืนผ้าใบวาดภาพอยู่ตามมุมต่างๆในเมือง,ริมถนนหรือลานโบสถ์ ปราศจากผู้คนสนใจ





  1. ถ้าเราได้พบคนเหล่านี้และเดินเข้าไปดูภาพที่เขาวาดจะมีลักษณะสีสันผิดแผก แตกต่างจากที่เราเคยเห็น ภาพที่วาดขึ้นต่อหน้า ไม่ว่าจะเป็นบุคคล,ชุดเสื้อผ้าหรือองค์ประกอบแวดล้อม เช่น ต้นไม้,ลำธาร,ท้องฟ้า ไม่ได้มีเส้นสายสีสันละเอียดเหมือนจริงตามสายตาเรา ภาพเหล่านั้นมักจะไม่ได้ร่างขอบรูปของแบบไว้ก่อน จังหวะการลงสีพู่กันปาดไปมาอย่างรวดเร็วไม่พิถีพิถัน สีที่ใช้บางครั้งสดใสโทนแม่สี โดยแทบไม่ผสมในจานสีมาก่อน ภาพคนก็เพียงแต่มองเห็นเป็นรูปเป็นร่าง ไม่ลงขอบเส้นใบหน้า,คิ้ว,ดวงตา อย่างชัดเจน ท้องฟ้า,แม่น้ำ,ลำธาร ใช่จะปรากฏสีฟ้าและก้อนเมฆ,คลื่น ละอองน้ำสีขาว กลับแซมด้วยริ้วรวงสีแดง,เหลือง ของแสงแดดสะท้อนเข้ามา งานศิลปะที่มุ่งบันทึกภาพชีวิตผู้คน สถานที่ต่างๆและภาพธรรมชาติอย่างคร่าวๆ ใช้สีตามใจของศิลปิน จับจังหวะความประทับใจเข้าถึงอารมณ์ของภาพในช่วงเวลาสั้นๆ เท่าที่ตามองเห็น รูปแบบการวาดภาพสไตล์นี้คือที่มาของ ลัทธิอิมเพรสชั่นนิสม์(Impressionism)



  2. ชีวิตของเรอนัวร์มีหลายสิ่งอย่างอย่างที่น่าศึกษา เหมือนงานศิลปะของเขา เขาแสดงออกถึงความมีพรสวรรค์และอัจฉริยภาพ ในการทำงานศิลป์มาตั้งแต่สมัยเขียนภาพประกอบผิวกระเบื้อง ถ้วยชาม,แจกันในโรงงานผลิตเครื่องลายคราม โดยตั้งใจแต่แรกว่าจะต้องเป็นศิลปินให้ได้ จึงอดทนเจียดเงินส่วนหนึ่งไว้เข้าศึกษา ในโรงเรียนศิลปะชั้นสูงแห่งกรุงปารีส หรือ ปารี เซกอล เดส์ โบ-ซาร์ท(Paris Ecole Desbeaux-Arts) เขาศึกษาการทำงานศิลปะต่างๆอยู่ในสตูดิโอของ ชาร์ลส์ เกลออีร์ ด้วยความอุตสาหะและอุทิศตนเป็นอย่างมาก เพราะเหตุนี้เขาจึงได้รู้จักคบหากับนักศึกษาที่มีความตั้งใจจริงเหมือนกัน และเป็นศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์ที่มีชื่อเสียง ในเวลาต่อมาหลายคน คนหนึ่งที่สนิทกันมากและมีอิทธิพลต่องานในช่วงแรกๆของเขาด้วยก็คือ โคล้ด โมเน่ท์(Claude Monet)


  3. สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่จะส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดในการสร้างงานของเรอนัวร์ มาจากความประทับใจที่เขาได้มีโอกาสไปชมภาพเขียนเก่าๆในสมัย โรโกโก และ นีโอคลาสสิค(เป็นศิลปะปลายสมัยบาโร้กของยุโรป ภาพทิวทัศน์จะมีแสงสว่างนุ่มนวล และมีบรรยากาศราวกับความฝัน ร่างกายมนุษย์จะอ่อนช้อย หญิงสาวมีผิวเนียนแดงระเรื่อ สอดคล้องกับความต้องการของชนชั้นสูง ศิลปะชนิดนี้เสื่อมความนิยมไปพร้อมกับ การล่มสลายของราชวงศ์ บูร์บอง และการปฏิวัติของฝรั่งเศสใน ค.ศ.1789)ประกอบกับประสบการณ์ รับจ้างเขียนภาพบนพัดของสตรีและธงของโบสถ์ ซึ่งนักสอนศาสนานำไปใช้ในต่างประเทศ(ภายหลังโรงงานผลิตเครื่องลายครามเลิกจ้าง เพราะใช้เครื่องจักรพิมพ์ภาพลงบนถ้วยจานแทนช่างฝีมือ) การลอกภาพเขียนของจิตรกรสมัยโรโกโกนี้ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าช่วยเสริมทักษะในการใช้พู่กันเขียนภาพของเขามากขึ้น ที่พิพิธภัณฑ์ ลูฟวร์(Louvre) ซึ่งเรอนัวร์มีโอกาสเดินทางไปบ่อยๆ เนื่องจากเขารู้จักกับศิลปินคนหนึ่งที่มีสตูดิโออยู่ใกล้ๆที่ฝึกงานของเขา ศิลปินคนนี้ต้องเดินทางไปที่ ลูฟวร์ หลายครั้งหลายหน เขาได้ชักนำเรอนัวร์ศึกษาและเกิดความประทับใจกับ ผลงานของศิลปินฝรั่งเศสแห่งศตวรรษที่ 18 เช่น บูเชร์,วัตโต และ ฟราโกนาร์ด อิทธิพลของงานเหล่านี้จะปรากฏอยู่ในช่วงท้ายๆ ของการสร้างงานของเรอนัวร์อย่างเห็นได้ชัด..

"ทุกวันนี้...ผู้คนพยายามจะอธิบายทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ถ้าใครสามารถอธิบาย ภาพเขียน ได้ภาพนั้น ก็จะไม่เป็นงานศิลปะอีกต่อไป...ผมจะบอกให้นะว่า คุณสมบัติ อะไรที่สำคัญสำหรับงานศิลปะที่แท้จริง?ภาพเขียนต้องไม่สามารถบรรยายได้...มิอาจลอกเลียนแบบได้งานศิลปะต้องจับคนดูไว้ โอบล้อมเขา และ นำพาเขาล่องลอยไป ศิลปินจะใช้ภาพเขียนเป็นเครื่องมือสื่ออารมณ์ของเขา...เป็นพลังอันเริงแรงที่เขาเปล่งรัศมีออกมา และดึงดูดผู้ชมให้สัมผัสอารมณ์ของเขา..."ปิแอร์ โอกุสต์ เรอนัวร์Pierre Auguste Renoir1841-1919






ไม่มีความคิดเห็น: